การเลือกซื้อจักรยานพับได้เรื่องแรกที่สำคัญเลยคือความแน่นหนาของจุดพับครับ ก่อนซื้อลองจับรถตามตำแหน่งที่เป็นจุดพับได้ทั้งหลายว่ามีการคลอนตัวหรือไม่ จุดพับ “แข็งแรง” หรือเปล่า หากรู้สึกว่าคลอนตัวตั้งแต่แรกก็ไม่ควรนำมาใช้งาน
ถ้ารู้สึกว่าทดลองขยับแล้วแน่นหนาดี ขั้นที่ 2 ที่ควรทำก็คือทดลองปั่นฯ ดูสักเล็กน้อย จักรยานพับได้บางคันเวลาปั่นฯ จะให้ความรู้สึกว่าหน้าไว บังคับการทรงตัวยาก เอามาใช้ปั่นฯ ทางยาวๆ แล้วจะ “เครียด” ได้ง่ายครับ หากลองปั่นฯ แล้วรู้สึกว่า “แปลกๆ” จักรยานคันนั้นก็ไม่เหมาะกับเราครับ
จักรยานพับได้ที่รองรับผู้ใช้ได้หลายระดับความสูงมักจะต้องปรับสูง-ต่ำได้ทั้งแฮนด์และหลักอาน (เบาะนั่ง) ครับ รถรุ่นราคาต่ำบางคันแฮนด์จะปรับสูง-ต่ำไม่ได้ ซึ่งทำให้เหมาะสมกับบางระดับความสูงเท่านั้นเช่น คนสูงขับขี่ไม่สบายหรือไม่ก็กลับกันครับ
จักรยานจากอังกฤษบางยี่ห้อที่เป็นจักรยาน Classic ราคาแพงเช่น Brompton ก็เป็นแฮนด์แบบปรับสูง-ต่ำ ไม่ได้ แต่จะใช้วิธีเปลี่ยนแฮนด์เพื่อให้เหมาะสมกับเจ้าของแทน เนื่องจากแนวคิดของรถจากอังกฤษไม่ได้รองรับผู้ใช้หลายคน / จักรยาน 1 คัน ตามปรกติมักมีเจ้าของคนเดียวเป็นทั้งเจ้าของและผู้ใช้งานครับ
ถ้ามี Spec. ของจักรยานให้อ่านก็ลองดูว่าเขาระบุให้สามารถใช้ได้กับความสูงตั้งแต่เท่าใดถึงเท่าใด และรับน้ำหนักผู้ขับขี่ได้สูงสุดเท่าไร แต่ตามปรกติแล้วมักได้เฉียดๆ 100 กก. และความสูงระหว่าง 160 – 180 ซม.เป็นอย่างต่ำครับ
เรื่องการพับว่าสามารถพับได้ง่าย-คล่องแคล่วหรือพับ (ยุ่ง) ยาก ลองนึกภาพตัวเองกำลังยุ่งอยู่กับการพยายามพับรถจักรยานตรงบันใดทางขึ้นรถไฟฟ้าหรือริมถนนที่มีคนเดินขวักไขว่ซิครับ ยิ่งพับยากเท่าไรคุณก็ยิ่งวุ่นวายใจกับเวลาที่ผ่านไปจนกระทั่งแม้เวลาแค่ 1 หรือ 2 นาทีก็นานเหมือนเป็นชั่วโมงครับ
รถพับจากอเมริกายี่ห้อ Bike Friday ล้อ 16 นิ้ว รุ่น Tikit 8 เกียร์ ราคาคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7 – 8 หมื่นบาท ใช้เวลาพับแค่ชั่วกระพริบตาหรือสะบัดมือ(พับ) ครับ เนื่องจากเป็นรถพับรุ่นเดียวที่ออกแบบให้มีกลไกเป็นสายสลิงภายในช่วยในการพับเร็วและกางออกเร็ว
ขนาดเมื่อพับแล้วครับ รถพับล้อ 16 นิ้วหรือเล็กกว่าได้เปรียบและเหมาะสมสำหรับพื้นที่ในเมืองเนื่องจากขนาดเมื่อพับแล้วมีมิติที่ไม่ใหญ่จนดูเหมือนเกะกะ รถพับทั่วๆ ไปเมื่อพับแล้วมักมีมิติไม่น้อยกว่า 50 X 50 X 50 ซม. หรือ ครึ่งลูกบาศก์เมตร หากอยากทราบความรู้สึกเปรียบเทียบเมื่อต้องใช้งานรถพับจริง ลองหากล่องกระดาษที่มีมิติประมาณนี้แล้วใส่น้ำหนักลงไปอย่างน้อย 10 กก. แบกหรือหิ้วขึ้นสถานนีรถไฟฟ้าหรือลงรถใต้ดินดูครับ
จักรยานพับที่เหมาะสมสำหรับการใช้ในเมืองมักจะเน้นเรื่องน้ำหนักที่ “เบา” ไว้เป็นเรื่องแรกก่อนครับ จักรยานทั่วไป ที่น้ำหนักเบาๆ ส่วนมากก็มีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 10 – 11 กก. แต่สำหรับจักรยานพับนี่ต้องทดลองของจริงด้วยการหิ้วกล่องกระดาษน้ำหนัก 10 กก. หรือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คน้ำหนัก 5 กก. สัก 2 เครื่องขึ้นบันใดรถไฟฟ้าครับ แล้วคุณจะตัดสินใจได้เองกับ “น้ำหนัก” ของรถพับว่าหนักระดับใหนถึงจะเรียกได้ว่า “เหมาะสม”
จักรยานพับตัวถังเหล็กหรืออลูฯ Single Speed ทั่วๆ ไป จะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 10 – 12 กก. ราคาอยู่ระหว่าง 3,500 – 10,000 กว่าบาท ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อครับ ส่วนจักรยานพับมีเกียร์จะมีหลายราคา รุ่นที่ราคาแถวๆ 8,000 – 10,000 กว่าบาท มักมีน้ำหนักมากคือระหว่าง 13.5 – 16 กก. ครับ หากต้องการรุ่นที่น้ำหนักเบาก็จะมีราคาแพงขึ้นไประหว่าง 20,000 – 30,000 กว่าบาทครับ
หากต้องการหาจักรยานพับแบบมีเกียร์เอาไว้ใช้ในเมืองและไม่อยากได้จักรยานแบบเกียร์เดียว (Single Speed) อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับรถแบบมีเกียร์ที่ไม่ค่อยต้องการการดูแลรักษามาก (พัง-ทิ้งหรือเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ ถ้าไม่พังก็ยังใช้งานได้ดีไม่ต้องคอยปรับแต่ง) ก็ต้องหารถจักรยานประเภทเกียร์ดุม (Hub Gear) ครับ แต่อาจจะหาซื้อในแบบของใหม่ มือหนึ่งยากหน่อยนะครับ ส่วนมากมักจะเป็นจักรยานมือสองและก็มีน้ำหนักมากกว่าจักรยานแบบเกียร์เดียวเนื่องจากน้ำหนักของอุปกรณ์ที่เพิ่มเข้ามาครับ (เกียร์ดุม 3 เกียร์ ล้อ 20 นิ้วที่ผมใช้อยู่เป็นจักรยานตัวถังเหล็ก มือสอง น้ำหนัก 14 กิโลฯ ครับ)